ประเภทเงินรายได้ที่ต้องเสียภาษี
เนื่องจากผู้มีเงินได้ประกอบอาชีพแตกต่างกัน มีความยากง่ายหรือต้นทุนที่แตกต่างกัน เพื่อความเป็นธรรมในกฎหมายจึงได้แบ่งลักษณะเงินได้พึงประเมิน ออกเป็นกลุ่มๆ ตามความเหมาะสมเพื่อกำหนด วิธีการคำนวณภาษีให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด เหตุผลที่ต้องมีการแบ่งประเภทเงินได้พึงประเมิน คือการประกอบอาชีพและช่องทางในการหารายได้ของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน บางคนทำอาชีพเดียว บางคนมีอาชีพเสริม และแต่ละอาชีพก็มีการใช้ต้นทุนรวมถึงความยากง่ายแตกต่างกันออกไป เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในเรื่องการคำนวณภาษีจึงมีการแบ่งประเภทของเงินได้พึงประเมินและเกณฑ์การหักลบค่าใช้จ่ายของแต่ละอาชีพแตกต่างกันออกไป
เงินได้ประเภทที่ 1 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน
- เงินเดือน
- ค่าจ้าง
- เบี้ยเลี้ยง
- โบนัส
- บำเหน็จ
- บำนาญ
- เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากนายจ้าง
เงินได้ประเภทที่ 2 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้
- ค่าธรรมเนียม
- ค่านายหน้า
- เบี้ยประชุม
- ค่าส่วนลด
เงินได้ประเภทที่ 3 ได้แก่
- ค่าแห่งกู๊ดวิลล์
- ค่าแห่งลิขสิทธ์
- เงินปี
- เงินรายได้ที่มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม
- นิติกรรมอย่างอื่นหรือคำพิพากษาของศาล
เงินได้ประเภทที่ 4 ได้แก่
- ดอกเบี้ย ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่
- เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่มีกฎหมายไทยจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะสำหรับให้กู้ยืมเงิน
- เงินโบนัสที่จ่ายแก่ผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
- ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น
**เงินได้ประเภทที่ 4 ในหลายๆกรณี กฎหมายให้สิทธิที่จะเลือกเสียภาษีโดยวิธีหักภาษี ณ ที่จ่าย แทนการนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นตามหลักทั่วไป ซึ่งจะทำให้ผู้มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามบัญชีอัตราภาษีในอัตราที่สูงกว่าอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย สามารถประหยัดภาษีได้
เงินได้ประเภทที่ 5 ได้แก่ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจาก
- การให้เช่าทรัพย์สิน
- การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน
- การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว
เงินได้ประเภทที่ 6 ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ
- วิชากฎหมาย
- การประกอบโรคศิลปะ
- วิศวกรรม
- สถาปัตยกรรม
- การบัญชี
- ประณีตศิลปกรรม
- หรือวิชาชีพอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้
เงินได้ประเภทที่ 7 ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
เงินได้ประเภทที่ 8 ได้แก่ การอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 แล้ว หรือ
- การธุรกิจ
- การพาณิชย์
- การเกษตร
- การอุตสาหกรรม
- การขนส่ง
- การขายอสังหาริมทรัพย์
เงินได้พึงประเมินแต่ละกรณีจะคำนวณหักค่าใช้จ่ายได้
ค่าใช้จ่ายเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคำนวณภาษี ถือเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับหักเป็นต้นทุนในการทำงาน เพื่อให้ได้เงินได้หรือรายได้สุทธินั้นมาคิดภาษีตามบัญชีอัตรา
 |
เงินได้ที่สามารถแยกคำนวณต่างหากจากเงินได้อื่น
เงินได้บางประเภทและบางกรณี หากผู้มีเงินได้ ได้มีการคำนวณและถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามหลักเกณฑ์ในเรื่องภาษีหัก ณ ที่จ่าย ก็สามารถเสียภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้โดยไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปีอีกแต่อย่างใด แต่ถ้าผู้มีเงินได้เห็นว่าการนำไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อคำนวณภาษีตามหลักทั่วไปจะเสียภาษีน้อยกว่าหรือทำให้ได้คืนภาษี ก็ชอบที่จะนำไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปีตามหลักทั่วไป โดยเป็นสิทธิของผู้มีเงินได้ที่จะเลือกปฏิบัติได้ เงินได้เหล่านี้ได้แก่
1. ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยที่ได้จากสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้น
2. ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงิน
3. ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนพันธบัตร หุ้นกู้ หรือตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้
4. เงินได้ตามมาตรา 40(4) ที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย จัดตั้งขี้นสำหรับให้กู้ยืมเงิน
5. เงินได้ตามมาตรา 40(8) ที่ได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร
6. เงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์ ภายใน 5 ปี นับแต่วันได้มา
7. เงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวมที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
8. เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน
9. ให้คนต่างด้าวซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้แล้วในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้พึงประเมิน
10. เงินได้พึงประเมินที่ผู้มีเงินได้ที่เป็นนักแสดงภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศได้รับจากการแสดงภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ซึ่งดำเนินการถ่ายทำในประเทศไทย
11. เงินปันผลที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
12. เงินได้ที่ได้รับจารการถือศุกูก และผู้ถือศุกูกยอมให้ทรัสตีผู้จ่ายเงินได้
คำอธิบายเพิ่มเติม
ศุกูก หมายความว่า ตราสารการเงินที่เป็นหลักทรัพย์ประเภทใบทรัสต์ตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งออกโดยสอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม
ผู้ถือศุกูก หมายความว่า ผู้ถือหลักทรัพย์ประเภทใบทรัสต์ที่จะได้รับประโยชน์จากกองทรัสต์เนื่องจากการออกศุกูกนั้น
ทรัสต์ หมายความว่า นิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุนที่เกี่ยวกับการออกศุกูก
สัญญาก่อตั้งทรัสต์ หมายความว่า สัญญาก่อตั้งทรัสต์ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุนที่เกี่ยวกับการออกศุกูก
ทรัสตี หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้ประกอบธุรกิจเป็นทรัสตีตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน
กองทรัสต์ หมายความว่า กองทรัสต์ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน
13. เงินได้พึงประเมินที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งมิใช่ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลที่ได้รับจากการขาย เพชร พลอย ทับทิม มรกต หรืออัญมณีที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน เฉพาะที่ยังมิได้เจียระไน
14. ผู้มีเงินได้ยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของผลต่างระหว่างราคาขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีทองคำแท่งเป็นสินค้าอ้างอิง ซึ่งกระทำในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับราคาทองคำแท่ง
15. ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยที่ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุน ซึ่งจัดตั้งและดำเนินการโดยบริษัทจัดการกิจการลงทุน
** ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมสรรพากร
** ข้อมูลจากหนังสือวิชา ภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร 2564
|