ข้อมูลทั่วไป


        ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นภาษีทางตรงประเภทหนึ่งที่สำคัญมากเพราะเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาล ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นภาษีที่เก็บจากบุคคลธรรมนั่นเอง บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้ไม่ว่าชนิดใด ถ้าไม่มีกฎหมายยกเว้นให้ต้องอยู่ในข่ายของการเสียภาษีนี้ด้วย

 

         ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
                  
                 ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาโดยมีสถานะ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้

 

                         

                          1.บุคคลธรรมดา หมายถึง สภาพบุคคลเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก และสิ้นสุดเมื่อถึงความตาย โดยมีเงินได้ถึงเกณฑ์ประมวลรัษฎากรกำหนดโดยไม่จำกัดอายุ ความสามารถ สัญชาติ ฯลฯ ของผู้มีเงินได้แต่อย่างใด

                          2.ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
หุ้นส่วนสามัญ บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงกันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งกำไรอันพึงที่ได้จากกิจการที่ทำกัน
คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงกระทำการร่วมกันแต่มิใช่ห้างหุ้นส่วนสามัญ

                          3.ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี ถ้าเสียชีวิตไประหว่างปีไหน ปีนั้นก็ยังต้องเสียภาษีอยู่ในชื่อของตัวเอง แต่เปลี่ยนฐานะใหม่เป็นผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี

                          4.กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง คือ ทรัพย์สินของผู้ตายในปีถัดจากปีที่ถึงแก่ความตาย แต่ยังไม่ได้แบ่งให้ทายาท กองมรดกไม่มีสภาพเป็นบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เป็นกองทรัพย์สินซึ่งประมวลรัษฎากรถือเป็นหน่วยเสียภาษี

                          5.วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

                  เงินได้พึงประเมินได้แก่
                          1.เงินสด
                          2.ทรัพย์สินที่ตีราคาได้
                          3.สิทธิประโยชน์ที่ตีราคาได้
                          4.เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้
                          5.เครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

                  แหล่งเงินได้ที่นำไปคำนวณภาษี
                          1.เงินได้เกิดจากแหล่งในประเทศ
                                   1.1 หน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย หรือ
                                   1.2 กิจการที่ทำในประเทศไทย หรือ
                                   1.3 กิจการของนายจ้างในประเทศไทย
                                   1.4 ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า ฯลฯ)
                          2. เงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศไทย
                                   2.1 หน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ หรือ
                                   2.2 กิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือ
                                   2.3 ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ

                  ผู้มีเงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วจะต้องเสียภาษีเงินได้ ในประเทศไทย
                  ก็ต่อเมื่อเข้าองค์ประกอบทั้ง 2 ประการ ดังต่อไปนี้
                          1.ผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ในปีภาษีนั้นชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมทั้งหมดถึง 180 วัน
                          2.ผู้มีเงินได้นำเงินได้นั้นเข้ามา ในประเทศไทยในปีภาษีนั้นด้วย